“จิตศึกษา” เป็นนวัตกรรมเพื่อพัฒนาปัญญาภายใน ซึ่งทำงานกับสมองชั้นกลาง และสมองชั้นนอก เมื่อใช้กับผู้เรียนด้วยกระบวนการ และวิธีการของจิตศึกษาจะเป็นการค่อยๆสร้าง การก่อรูปคุณลักษณะของปัญญาภายในขึ้น การฝึกฝน และการใช้ซ้ำๆ จะทำให้รูปของคุณลักษณะนั้นคงตัว “สมองชั้นใน” เกี่ยวกับความอยู่รอด เป็นสมองสัตว์เลื้อยคลานทำงานตามสัญชาตญาณ เพื่อความอยู่รอดไม่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกหรือความดีงาม เช่น จระเข้กัดกินลูกของตัวเองได้เมื่อมันหิว “สมองชั้นกลาง” เกี่ยวกับอารมณ์เป็นสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทำงานเกี่ยวกับความรู้สึกหรือความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ “สมองชั้นนอก” เป็นส่วนที่พอกหนาขึ้นมามาก
เป็นสมองแห่งความเป็นมนุษย์ ทำหน้าที่ที่ละเอียดอ่อน เช่น คิดเรื่องที่เป็นนามธรรม ความงาม ความดี ความจริง มีมิติทางวัฒนธรรมและมีจิตวิญญาณ สมองส่วนนี้ช่วยสร้างโอกาสให้มนุษย์สามารถพัฒนาจิตวิญญาณไปสู่การมีความรักอย่างไพศาลทั้งต่อเพื่อนมนุษย์และต่อสรรพสิ่ง มีอิสระหลุดพ้นจากการบีบคั้นหรือเครื่องครอบทางจิตวิญญาณและทางปัญญาจะมีความสุขอันประณีต สมองทั้ง 3 ชั้น ทำงานกันคนละหน้าที่ แต่ทำงานเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เช่นเมื่อเด็กรู้สึกถูกคุกคามสมองชั้นในของเด็กจะทำงานก่อนด้วยการเข้าสู่ภาวะปกป้องตัวเองหรือการเอาตัวรอดจะอาจทำให้สมองส่วนอื่นๆ ทั้งส่วนการเรียนรู้ คุณธรรม ความรัก หยุดทำงานแต่ถ้ากระตุ้นสมองชั้นนอกด้วยการสร้างสัมพันธภาพเชิงบวกให้เด็กได้เกิดอารมณ์เชิงบวกรู้สึกได้รับคุณค่าเมื่อนั้นสมองส่วนหน้าและสมองส่วนกลางก็จะทำงานได้ดี
กระบวนทัศน์ของจิตศึกษา ประกอบด้วย ฟันเฟืองสำคัญ 3 อย่างได้แก่
“ความเป็นชุมชน” ซึ่งเป็นทั้ง พื้นที่และบรรยากาศที่เสมือนเป็น เบ้าหลอมใหญ่
“จิตวิทยาเชิงบวก” ซึ่งเป็นวิธีการที่ เน้นชี้ถูกและการเป็นแบบอย่าง
“กิจกรรม” ซึ่งเป็น เครื่องมืออันหลากหลายที่ใช้ฝึกฝน
ที่มา จากหนังสือ “จิตศึกษา พัฒนาปัญญาภายใน”
ผู้เขียน วิเชียร ไชยบัง โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์